หลักสูตรเตรียมอนุบาล/อนุบาล 2-6 ปี
"การจัดเนื้อหาและลำดับการเรียนการสอนในหลักสูตรของโรงเรียนวิศานุสรณ์นั้น เป็นการจัดเนื้อหาและลำดับตามพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย ขึ้นกับว่าวัยนั้นๆ เรียนรู้อย่างไรและต้องการพัฒนาด้านใด เพื่อตอบสนองต่อความต้องการจากภายในตัวเด็กเอง" |
พัฒนาการเด็กวัย 0-6ปี
Absorbent Mind
• เป็นวัยที่เกิดการเรียนรู้และพัฒนาการจากจิตไร้สำนึก (Unconscious Learning) ที่มีความสามารถในการซึมซับทุกสิ่งทุกอย่างในสิ่งแวดล้อมผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้ายกตัวอย่างเช่น การเรียนภาษาพูด ที่เด็กทารกเริ่มจาก การได้ยินเสียงพูดของผู้ใหญ่รอบตัวตั้งแต่แรกเกิด เด็กทารกจะซึมซับเอาเสียงเหล่านั้นไว้ และในขณะเดียวกันร่างกาย ก็จะมีการพัฒนากล้ามเนื้อที่ช่วยในการพูดมากขึ้นเป็นลำดับ จนสามารถเริ่มออกเสียงได้
• เป็นช่วงเวลาของการมีพัฒนาการด้านภาษาเป็นอย่างมาก จากการออกเสียงที่ไม่มีความหมายต่อมาเป็นคำๆ ที่มีความหมาย จนถึงการพูดเป็นประโยคได้อย่างสมบูรณ์ ในวัย 6 ปี
• เป็นวัยที่พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว โดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กได้อย่างคล่องแคล่ว เกิดการการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อต่างๆได้เป็นอย่างดี จะเห็นได้จากเด็กแรกเกิดที่แทบจะไม่เคลื่อนไหว จนสามารถพลิกคว่ำ คลาน นั่ง ยืน เดิน และวิ่งได้ในที่สุด
• เป็นวัยที่พัฒนาการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ให้มีการรับรู้ที่แม่นยำและละเอียดอ่อนขึ้น
• เป็นช่วงวัยที่ชอบในความเป็นระเบียบของสิ่งต่างๆ
• เป็นวัยที่อยากรู้จักสิ่งรอบตัว โดยมักใช้คำถามว่า “อะไร”
• เป็นช่วงวัยที่มีการสร้างตัวตน (Construction of Self) และเมื่อถึงวัย 6ปี เด็กจะแสดงออกซึ่งบุคลิกภาพเฉพาะตนขึ้นมา
"โรงเรียนวิศานุสรณ์มีความเชื่อว่า เด็กแต่ละคนมีความเป็นปัจเจก มีความแตกต่างในจังหวะการเรียนรู้ บางคนอาจจะเรียนรู้ได้เร็วและมาก แต่บางคนอาจจะยังไม่พร้อมในการพัฒนาด้านนั้นๆ ดังนั้นแผนการเรียนการสอนจึงจัดเป็นรายบุคคล"
โดยครูจะเป็นผู้สร้างความสนใจ เสนอความท้าทาย ติดตามและปรับวิธีการให้เข้ากับเด็กคนนั้นๆ เพื่อช่วยให้เกิดพัฒนาการในทุกๆ ด้านอย่างสมดุล
วัตถุประสงค์ กิจกรรมและผลที่คาดหวังในแต่ละกลุ่มวิชามีดังนี้
1. Practical Life เป็นการฝึกกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดพัฒนาการของกล้ามเนื้อเรียนรู้การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น นำไปสู่ความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่นกิจกรรม Practical Life แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ
- ดูแลตนเอง เช่น แต่งตัว หวีผม ใส่รองเท้า ล้างมือ พับผ้า แขวนผ้า
- ดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น เช็ดโต๊ะ ล้างภาชนะ จัดโต๊ะอาหาร เตรียมอาหารง่ายๆ กวาด ถู ปัดฝุ่น รดน้ำต้นไม้ ให้อาหารสัตว์เลี้ยง เก็บขยะ ทำสวน
- เรียนรู้มารยาท เช่น การไหว้ การกล่าวทักทาย ขอโทษและขอบคุณ การไอจามในที่สาธารณะ การเคลื่อนย้ายโต๊ะเก้าอี้ในห้องเรียน
2. Sensorial เป็นการฝึกประสาทการรับรู้ทั้งห้า ให้มีความแม่นยำและละเอียดอ่อนขึ้น ฝึกการสังเกต การจัดกลุ่ม และการจัดลำดับ เป็นการสร้างทักษะพื้นฐาน สำหรับการเรียนรู้ในวิชาคณิตศาสตร์ เรขาคณิตและภาษาในระดับชั้นที่สูงขึ้น
- ฝึกการใช้สายตาในการสังเกต ในการแยกชนิด แยกขนาดและแยกสี
- ฝึกประสาทการรับฟัง แยกประเภทของเสียง
- ฝึกประสาทการได้กลิ่น แยกประเภทของกลิ่น
- ฝึกประสาทการรับรส แยกประเภทของรส
- ฝึกประสาทการรับรู้ของร่างกาย แยกผิวสัมผัส น้ำหนัก และขนาด
3. Mathematics คณิตศาสตร์ เมื่อจบระดับอนุบาล ความรู้และทักษะพื้นฐานที่ได้คือ
- รู้จัก “มากกว่า” “น้อยกว่า” และ “เท่ากับ”
- รู้จักปริมาณ สามารถนับเลขได้
- รู้จักสัญลักษณ์ที่ใช้แทนปริมาณ (ตัวเลข) และเปรียบเทียบปริมาณกับตัวเลขได้
- บวกลบเลขโดยไม่มีการทดการยืมได้
4. Language ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เมื่อจบระดับอนุบาล ความรู้และทักษะพื้นฐานที่ได้คือ คำศัพท์
- รู้จักคำศัพท์ของสิ่งต่างๆ รอบตัว ทั้งในและนอกห้องเรียน และคำศัพท์ในชีวิตประจำวัน
การอ่านและเขียน
- รู้จักเสียงพยัญชนะและสระ
- รู้จักตัวอักษรพยัญชนะและสระ
- ประสมและอ่านคำง่ายๆ ได้
5. Cultural เป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ รอบตัวที่เป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนในระดับประถม โดยจะได้เรียนรู้และทำกิจกรรมดังนี้
- รู้จักการเรียกชื่อสิ่งต่างๆ เช่น ชื่อส่วนต่างๆ ของต้นไม้ ชื่อพืชและสัตว์ ชื่อลักษณะทางภูมิศาสตร์ง่ายๆ เช่น ดิน น้ำ ภูเขา ชื่อสถานะของสาร (ของแข็ง ของเหลว ก๊าซ)
- รู้จักการสังเกต
- ฝึกกล้ามเนื้อผ่านการใช้สื่อและกิจกรรม
- ชื่นชมในธรรมชาติรอบๆ ตัว
- เรียนรู้ทักษะด้านศิลปะและดนตรีเบื้องต้น ชื่นชมในศิลปะและดนตรี
- พลศึกษา ฝึกทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายพื้นฐาน โยคะสำหรับเด็ก ออกกำลังกายในน้ำ ว่ายน้ำ